top of page

เปิดโลกการประเมินมูลค่าหุ้น

Margin of Safety
(ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย)

ในระยะยาวราคาหุ้นควรเคลื่อนไหวเกาะไปกับมูลค่าหุ้น (ภายใต้เงื่อนไขว่านักลงทุนเป็นผู้มีเหตุผล และหุ้นมีการซื้อขายคล่องตัว) แต่ในระยะสั้น ราคาหุ้นสามารถเบี่ยงเบนออกไปจากมูลค่าหุ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ การเบี่ยงเบนดังกล่าวเป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง Margin of Safety (MoS)

Margin of Safety เป็นคำที่ริเริ่มโดย เบนจามิน เกรแฮม หมายถึง สิ่งที่เตรียมไว้สำหรับปกป้องการลงทุน โดยภาษาไทยมีการแปลเป็นถ้อยคำต่าง ๆ เช่น ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย, ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย, ค่าเผื่อสำหรับความปลอดภัย ฯลฯ แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าทั้งหมดเป็นสิ่งเดียวกัน

ในหนังสือ The Intelligent Investor งานเขียนชิ้นเอกของเกรแฮม ฉบับแปลไทยโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข มีระบุว่า "ในกรณีของหุ้นซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนเผื่อ (เพื่อความปลอดภัย) จะเป็นส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นและมูลค่าที่เหมาะสม"

สำหรับประเด็นนี้ หนังสือ แต้มต่อในตลาดหุ้น โดย สุภศักดิ์ จุลละศร ได้ระบุการคำนวณส่วนต่างแห่งความปลอดภัยเอาไว้ว่า “เรามักใช้มูลค่าหุ้นเป็นแกนยึดเหนี่ยว และคำนวณ Margin of Safety (MoS) ดังนี้”

ตัวอย่างเช่น เราคำนวณมูลค่าหุ้นได้ 20 บาท และหุ้นมีราคา 16 บาท MoS จะเท่ากับ (20 – 16) / 20 = 0.20 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง

แต้มต่อของการลงทุน

การลงทุนหุ้นประกอบด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ซื้อ-ถือ-ขาย ซึ่งเราสามารถมี "แต้มต่อ" หรือความได้เปรียบในแต่ละขั้นตอนได้ดังนี้

  • ซื้อ หุ้นเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า

  • ถือ หุ้นที่มีมูลค่าเติบโต และถือให้ยาวนาน

  • ขาย หุ้นเมื่อราคาสูงกว่ามูลค่า

ตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้นที่ราคา 16 บาท ในขณะที่หุ้นมีมูลค่า 20 บาท (เท่ากับมีความได้เปรียบในขั้นตอนซื้อ A = 4 บาท) จากนั้นก็ถือหุ้นเอาไว้จนกระทั่งมูลค่าหุ้นเพิ่มพูนขึ้นเป็น 40 บาท (มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา B = 20 บาท) และขายไปได้ที่ราคา 48 บาท (ถือว่าได้เปรียบ เพราะขายได้แพงกว่ามูลค่าหุ้นอยู่ C = 8 บาท)

สรุปแล้วเราได้กำไร 48 - 16 = 32 บาท จากความได้เปรียบในทุกขั้นตอน คือ ซื้อ-ถือ-ขาย หรือที่แสดงเป็น A-B-C ในภาพ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรเข้าใจว่า การมีความได้เปรียบครบทุกขั้นตอนนั้นเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป เพราะในบางกลยุทธ์ เราอาจลงทุนหุ้นชั้นเยี่ยมที่มีการเติบโตรวดเร็ว ความได้เปรียบในขั้นตอน ถือ จึงมีความสำคัญมากกว่าขั้นตอนอื่น ๆ แบบนี้ตอนซื้อหุ้นก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยงราคามากนัก

 

หรือตรงกันข้าม เราอาจลงทุนหุ้นคุณภาพปานกลาง แต่เลือกซื้อในจังหวะที่มีความได้เปรียบมาก ๆ หุ้นลักษณะนี้มักเพิ่มมูลค่าได้ช้า ความได้เปรียบในขั้นตอน ถือ จึงมีไม่มากนัก หากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาเร็วจนเกินกว่ามูลค่าอย่างชัดเจน ก็จะเป็นโอกาสให้เราขายได้โดยไม่ต้องเสียดาย

ทั้งหมดนี้มี มูลค่าหุ้น เป็นจุดยึดเหนี่ยว และเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า เหตุใดเราจึงต้องประเมินมูลค่าหุ้น

ประเมินด้วยวิธีไหนดี?

การประเมินมูลค่าหุ้นอย่างถูกต้อง ไม่ว่าด้วยวิธีใด ควรให้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากัน เหมือนการจับคนคนเดียวกันไปชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งสามแบบ น้ำหนักควรออกมาเท่าเดิม นักลงทุนจึงสามารถเลือกประเมินด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามความเชี่ยวชาญของตนเอง และตามความยากง่ายของหน้างาน

 

ส่วนใหญ่ถ้าประเมินหลายวิธีแล้วได้ผลลัพธ์แตกต่างกันมาก ปัญหามักอยู่ตรง input ที่ใช้ในแต่ละวิธี คือ ใส่ตัวเลขลงไปโดยไม่เช็คว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ หรือถ้าแย่กว่านั้น ก็อาจจะเพราะขาดความเข้าใจ ตื้น-ลึก-หนา-บาง ไม่ทราบที่มาที่ไปหรือสมมติฐานที่รองรับ จึงใช้สูตรคำนวณไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

Copyright ©2023 by MFTFinance. Proudly created with Wix.com

bottom of page