top of page
  • Facebook
  • Blogger

สูตรกอร์ดอน

ภายใต้โมเดลการเติบโตของกอร์ดอน (Gordon Growth Model: GGM)

บริษัทจะจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นในอัตราเดิมตลอดไป ทำให้คำนวณมูลค่าหรือราคาที่เหมาะสมของหุ้น (P) ได้ดังนี้

ตัวแปรที่ใช้

D = เงินปันผลปีถัดไป (Dividend)

re = อัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นต้องการ (Required Return on Equity)

g = อัตราการเติบโตของเงินปันผล (Growth)

วิดีโอต่อไปนี้ใช้เวลา 2 นาที อธิบายที่มาของสูตรเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

ข้อคิดเรื่องตัว g

หากพิจารณาจากธรรมชาติของบริษัท ซึ่งมักเติบโตเร็วในช่วงแรก และค่อย ๆ เติบโตช้าลง หลังจากที่บริษัทเริ่มมีขนาดใหญ่ เราจะพอเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมถูกครอบครองโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตช้า

เมื่อคำนึงถึงความจริงข้อนี้ เราจะเข้าใจได้ทันทีว่า ตัว g หรืออัตราการเติบโตในโมเดลของกอร์ดอนนั้นจะสูงมากไม่ได้ เพราะถ้าบริษัทของเราเติบโตเร็ว แถมยังลากยาวไปชั่วนิรันดร์ ในที่สุดแล้วบริษัทดังกล่าวก็จะใหญ่จนเบียดครองทั้งระบบเศรษฐกิจไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น ตัว g ก็ไม่ควรสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม (ซึ่งวัดจาก GDP)

หรือถ้าคิดให้เข้มงวดขึ้นไปอีก เราอาจจะไม่ควรเอาการเติบโตของ GDP  เข้ามารวมด้วยซ้ำไป เนื่องจากสิ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจมีการเติบโตควรเป็นนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่อิ่มตัว เพราะฉะนั้น ตัว g ของบริษัทที่อิ่มตัวก็ควรมีค่าเพียงเท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ในระยะยาว

สรุปคือมีสองค่าย

  1. ตัว g เท่ากับ อัตราเงินเฟ้อ + อัตราการเติบโตของ GDP

  2. ตัว g เท่ากับ อัตราเงินเฟ้อ

สมมติเราคาดการณ์ในระยะยาวว่า ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อ 2.0 เปอร์เซ็นต์ และ GDP มีการเติบโต 2.5 เปอร์เซ็นต์

 

ค่ายแรกก็จะบอกว่า g = 4.5% ส่วนค่ายที่สองมองว่า g = 2.0% เท่านั้น ซึ่งนักลงทุนก็ต้องพิจารณาเอาว่าแบบไหนสอดคล้องกับบริษัทที่ตนเองสนใจ และบางทีตัวเลขที่เหมาะสมอาจอยู่ระหว่างตัวเลขสองตัวนี้

ตัวอย่างคำนวณ

หุ้น MFT (นามสมมติ) มีธุรกิจอยู่ในภาวะอิ่มตัว และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผล 21 บาท ในปีถัดไป นักลงทุนประเมินว่า กำไรสุทธิ ของบริษัทน่าจะมีการเติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และตั้งสมมติฐานว่าเงินปันผลก็น่าจะเติบโตได้ในระดับเดียวกัน

ด้วยระดับผลตอบแทนที่ต้องการ 9 เปอร์เซ็นต์ นักลงทุนจะสามารถคำนวณมูลค่าหุ้น (P) ได้ตามสูตรกอร์ดอน

สังเกตว่าการคำนวณนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก เพียงแต่เราต้อง เช็คค่า g ว่าสมเหตุสมผล หรือในบางโอกาสเราอาจต้องใช้ สูตรประยุกต์ ซึ่งดัดแปลงมาเล็กน้อย เพื่อให้ประเมินมูลค่าได้ดีขึ้น

 

ที่สำคัญต้องดูด้วยว่าหุ้นของเรา "เข้าเกณฑ์" ที่จะใช้สูตรกอร์ดอนหรือไม่ โดยหลักคร่าว ๆ ที่อาจถือว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ได้แก่

  1. สามารถดำเนินงานต่อเนื่อง

  2. ธุรกิจค่อนข้างอยู่ตัว เติบโตไม่มาก

  3. คาดการณ์เงินปันผลได้

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีระยะเวลาดำเนินงานจำกัด (เช่น กอง REIT บางประเภท หรือหุ้นที่มีสัญญาสัมปทานเพียงเท่าจำนวนปีที่ระบุไว้) จะไม่ตรงตามเงื่อนไขข้อ 1 และ ไม่ สามารถใช้สูตรกอร์ดอนคำนวณหามูลค่าได้

ส่วนกรณีหุ้นเติบโต เราอาจใช้สูตรคิดลด 2 ขั้น ซึ่งสะท้อนสถานการณ์จริงของธุรกิจได้ดีกว่า

Copyright ©2023 by MFTFinance. Proudly created with Wix.com

bottom of page